top of page

รถยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จริงหรือ

Updated: Sep 9, 2021

สวัสดีผู้อ่านทุกท่านครับกลับมาพบกับผม เจ อีกแล้วนะครับ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้สรุปรุ่นรถยนต์ไฟฟ้า BEV ที่มีจำหน่ายในประเทศไทยในปัจจุบันให้ได้ดูกันไปแล้ว ท่านผู้อ่านมีความสนใจรถรุ่นไหน สามารถคอมเมนต์บอกกันได้นะครับ สำหรับสัปดาห์นี้ผมจะมาไขข้อข้องใจว่ารถยนต์ไฟฟ้า (EV) นั้นจริงๆแล้วเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจริงอย่างที่เค้าว่ากันหรือเปล่านะ

ในปัจจุบันทุกคนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อน (Global Warming) ที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งตัวการสำคัญเกิดจากก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มสูงขึ้น โดยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ (CO2) เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของก๊าซเรือนกระจก โดยจากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานกระทรวงพลังงาน ได้ชี้ให้เห็นว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ (CO2) ในประเทศไทยนั้นมาจากการขนส่งสูงถึง 28% ซึ่งนั่นก็มาจากรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้นั่นเอง

ที่มา: สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานกระทรวงพลังงาน, พ.ศ. 2562

โดยน้ำมันเบนซิน 1 ลิตร มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ (CO2) อยู่ที่ 2.29 กิโลกรัม ส่วนน้ำมันดีเซล 1 ลิตร มีอัตราการการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ (CO2) ที่มากกว่า อยู่ที่ 2.66 กิโลกรัม

สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) นั้นมีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ (CO2) เป็นศูนย์หรือเรียกได้ว่าไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ (CO2) เลย ซึ่งนั่นก็เป็นความจริงถ้าเราพิจารณาเฉพาะการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) บนท้องถนน แต่ในความเป็นจริงแล้วเราจะต้องพิจารณาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่กระบวนการผลิตรถยนต์, การผลิตกระแสไฟฟ้า, การใช้รถยนต์บนท้องถนน และสุดท้ายจบด้วยการกำจัดซากของตัวรถยนต์ไฟฟ้าเมื่อหมดอายุการใช้งาน


อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตรถยนต์

เราลองมาดูในส่วนกระบวนการผลิตรถยนต์กันครับว่าอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของรถยนต์ไฟฟ้าเทียบกับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปนั้นจะแตกต่างกันอย่างไรบ้าง จากภาพด้านล่างก็จะเห็นได้ว่ารถยนต์ไฟฟ้านั้นมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตที่มากวารถยนต์เครื่องยนต์สันดาปเล็กน้อย อันเนื่องมาจากในกระบวนการผลิตแบตเตอรี่ Lithium-ion นั้นต้องใช้พลังงานและวัสดุที่ค่อนข้างสูงในกระบวนการผลิตนั่นเอง โดยในกระบวนการผลิตของรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป จะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ 7 เมตริกตัน ส่วนรถยนต์ไฟฟ้า BEV จะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตอยู่ที่ 8 เมตริกตัน

อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวม

มีงานวิจัยในสหรัฐอเมริกาที่ได้มีการเปรียบเทียบอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของรถยนต์ทั้ง 2 ประเภท ตั้งแต่กระบวนการผลิตรถยนต์จนไปถึงกระบวนการกำจัดซาก แล้วพบว่ารถยนต์ไฟฟ้านั้นสามารถลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้สูงถึง 50% หรือครึ่งหนึ่งของรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปเลยทีเดียว สำหรับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปตลอดอายุการใช้งานตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการผลิต จะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ 57 เมตริกตัน ส่วนรถยนต์ไฟฟ้า BEV นั้นจะอยู่ที่ 28 เมตริกตัน

โดยมีขั้นตอนในการคำนวณอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของรถยนต์ทั้ง 2 ประเภท ดังนี้

1. รถยนต์เครื่องยนต์สันดาป

กระบวนการผลิตรถยนต์ --> กระบวนการขุดเจาะน้ำมัน --> กระบวนการกลั่นน้ำมัน --> การใช้รถยนต์บนถนนตลอดอายุการใช้งาน --> กระบวนการกำจัดซากของรถยนต์

2. รถยนต์ไฟฟ้า BEV

กระบวนการผลิตรถยนต์ --> กระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า --> การใช้รถยนต์บนถนนตลอดอายุการใช้งาน --> กระบวนการกำจัดซากของรถยนต์


อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า

สำหรับกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้านั้น ในแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสัดส่วนประเภทการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งถ้าเราสามารถเพิ่มสัดส่วนประเภทพลังงานหมุนเวียน อันได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์,พลังงานลม, พลังงานน้ำ และ เชื้อเพลิงชีวมวล ได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งส่งผลให้ตัวเลขของอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นลดลงไปได้มากเท่านั้น สำหรับประเทศไทยนั้นมีสัดส่วนประเภทพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 15% โดยในปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นหลักสูงถึง 60% เลยทีเดียว

แนวทางการจัดการกับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า BEV ในอนาคต

การจัดการกับแบตเตอรี่ Lithium-ion ของรถยนต์ไฟฟ้าที่หมดอายุการใช้งานแล้วนั้น สามารถทำด้วยกันได้ 3 แนวทาง ดังนี้

1. การ Reuse คือ การนำเอาแบตเตอรี่ที่หมดอายุการใช้งานกับรถยนต์ไฟฟ้า แล้วนั้นไปใช้งานในวัตถุประสงค์อื่น เช่น นำไปใช้กับระบบกังหันลม หรือระบบSolar Cell เป็นต้น

2. การ Recycle คือ การนำเอาวัสดุบางส่วนที่ยังสามารถใช้งานได้ เป็นส่วนประกอบในกระบวนการผลิตแบตเตอรี่ Lithium-ion ก้อนใหม่ ซึ่งในภาพรวมอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากวิธีการ Recycle นั้นจะน้อยกว่า การผลิตแบตเตอรี่ Lithium-ion ก้อนใหม่ทั้งก้อน

3. การฝังกลบ วิธีการนี้คงเป็นทางเลือกสุดท้ายที่เราจะเลือกใช้ เนื่องจากการฝังกลบแบตเตอรี่นั้นนอกจากจะใช้เวลาย่อยสลายที่ยาวนานมากแล้วนั้น ยังเป็นการส่งเสริมให้มีการผลิตแบตเตอรี่ Lithium-ion ก้อนใหม่เพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งนั่นก็จะเป็นการเพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตแบตเตอรี่นั่นเอง

วิเคราะห์และสรุป

จะเห็นได้ว่าถ้าในอนาคตมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) กันอย่างแพร่หลายในประเทศไทยนั้นจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้ประเทศไทยเองก็จะต้องมีการเพิ่มสัดส่วนโรงงานไฟฟ้าประเภทพลังงานหมุนเวียนให้มากยิ่งขึ้น อาทิเช่น พลังงานแสงอาทิตย์,พลังงานลม, พลังงานน้ำ และ เชื้อเพลิงชีวมวล เพื่อทำให้เกิดการลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด หรือแม้กระทั่งอาจจะต้องพิจารณาถึงพลังงานนิวเคลียร์เป็นอีกหนึ่งทางเลือก ซึ่งในปัจจุบันยังมีการต่อต้านในการตั้งโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทยอยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งถ้าทางภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการให้ความรู้และทำความเข้าใจกับประชาชน ตลอดจนมีการวางแผนการจัดการอย่างครบวงจร ผมก็เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะต้องส่งผลดีต่อทุกคนในระยะยาวอย่างแน่นอน

เป็นอย่างไรกันบ้างครับสำหรับบทความในสัปดาห์นี้ ผมหวังว่าทุกท่านจะได้รับความรู้ไปไม่มากก็น้อยนะครับ ท่านสามารถเข้ามาให้คำแนะนำหรือพูดคุยกับทีมงานของเราได้ตามช่องทางด้านล่างนี้เลยนะครับ สำหรับบทความหน้าจะเป็นเรื่องอะไรนั้น ผมต้องฝากทุกท่านติดตามกันด้วยนะครับ ขอบคุณครับ



แหล่งข้อมูลอ้างอิง

ช่องทางในการติดต่อกับทีมงาน

Line ID:@228tslca




3,610 views0 comments
bottom of page