top of page
รูปภาพนักเขียนTeruth Anurakjaturong

ระบบประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (Charging System for Electric Vehicles)

อีกหนึ่งอุปกรณ์ที่สำคัญสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ผู้ใช้รถจะขาดไม่ได้เลยนั่นก็คือ อุปกรณ์ชาร์จประจุไฟฟ้า ซึ่งเดี๋ยวเราจะมาดูกันครับว่าจะมีชนิดไหนกันบ้าง หัวชาร์จทั้งหมดที่มีในปัจจุบันเค้าใช้แบบไหนกัน รูปแบบสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงเทคโนโลยีการชาร์จแบบไร้สายในอนาคต วันนี้เดี๋ยวผมจะมาเล่าให้ฟังเบื้องต้นเพื่อให้ทุกคนมีความรู้ความเข้าใจมากยิ่งขึ้นเกี่ยวระบบประจุไฟฟ้ากันนะครับ

ที่มา: คู่มือประกอบกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสําหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV), คณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน (กกพ.), 2561

รูปแบบการอัดประจุไฟฟ้า

ปัจจุบันเทคโนโลยีการอัดประจุไฟฟ้าสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. การอัดประจุไฟฟ้าผ่านตัวนำ (Conductive Charging) เป็นการอัดประจุไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายไฟโดยผ่านสายเคเบิล เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูง และกำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทย่อยดังนี้

1) การอัดประจุไฟฟ้าแบบปกติ (Normal Charge) ซึ่งเป็นการอัดประจุไฟฟ้าด้วยไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) โดยต้องทำการชาร์จผ่านอุปกรณ์ที่ติดตั้งภายในตัวรถ คือ On-Board Charger ซึ่งจะแปลงไฟฟ้ากระแสสลับให้เป็นไฟฟ้ากระแสตรง (DC) เพื่อจ่ายเข้าสู่แบตเตอรี่ การอัดประจุในลักษณะนี้ปกติจะใช้เวลาในการชาร์จ 6-8 ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับขนาดของแบตเตอรี่และขนาดกำลังของ EV Charger)

วิธีการนี้จึงเหมาะที่จะใช้กับบ้านพักอาศัย หรืออาคารสำนักงาน ที่สามารถจอดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้เป็นระยะเวลานาน

2) การอัดประจุไฟฟ้าแบบเร็ว (Quick Charge) ซึ่งเป็นการอัดประจุไฟฟ้าด้วยไฟฟ้ากระแสตรง (DC) เข้าสู่แบตเตอรี่โดยตรง โดยไม่ต้องผ่าน On-Board Charger ซึ่งวิธีการนี้จะใช้เวลาในการชาร์จเพียง 10-15 นาที ก็สามารถที่จะชาร์จแบตเตอรี่จาก 0 ถึง 80% ได้ แต่เนื่องจากวิธีการชาร์จแบบนี้ต้องใช้กำลังไฟค่อนข้างสูง จึงทำให้ต้องการแหล่งจ่ายไฟฟ้าแบบ 3 เฟส และอาจจะต้องมีการติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าใหม่อีกด้วย วิธีการนี้จึงเหมาะกับสถานีชาร์จไฟฟ้าแบบสาธารณะ (EV Station) ที่ต้องการความรวดเร็วในการชาร์จ

ที่มา: https://www.mobility-academy.eu/mod/book/view.php?id=80&chapterid=437

2. การอัดประจุไฟฟ้าแบบเหนี่ยวนำ (Inductive Charging) หรือการอัดประจุไฟฟ้าแบบไร้สาย (Wireless Charging) เป็นการอัดประจุไฟฟ้าโดยการใช้การเหนี่ยวนำแม่เหล็กไฟฟ้า จึงทำให้การชาร์จแบบนี้ไม่จำเป็นต้องมีสายเคเบิลในระหว่างการชาร์จ ข้อดีคือมีความสะดวกสบายในการใช้งาน แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีนี้ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาประสิทธิภาพในการชาร์จอยู่ นอกจากนี้การชาร์จแบบนี้สามารถทำยังเป็นการชาร์จผ่านระบบไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) เท่านั้น ซึ่งก็ต้องอาศัย On-Board Charger ในการอัดประจุเข้าแบตเตอรี่

ที่มา: คู่มือประกอบกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสําหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV), คณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน (กกพ.), 2561

รูปแบบของเต้าเสียบของระบบการอัดประจุไฟฟ้าผ่านตัวนำ

อย่างที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้นนะครับว่า ระบบการอัดประจุไฟฟ้าผ่านตัวนำ (มีสาย Cable) นั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักคือ แบบชาร์จปกติที่ใช้ไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) และ แบบชาร์จเร็วที่ใช้ไฟฟ้ากระแสตรง (DC) ซึ่งลักษณะของหัวชาร์จของทั้งสองประเภทก็จะมีลักษณะแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ ดังนี้

ที่มา: ความรู้ยานยนต์ไฟฟ้าเบื้องต้น, สถาบันยานยนต์, 2555

1. หัวชาร์จประเภทไฟฟ้ากระแสสลับ (AC)

1.1) Type1 รองรับเฉพาะไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) 1 เฟส เท่านั้น โดยหัวชาร์จจะมีทั้งหมด 5 pins ซึ่งประกอบด้วยช่องจ่ายกระแสไฟฟ้า,ช่องสายดิน และช่องระบบการสื่อสาร ดังรูปด้านล่าง

ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/IEC_62196

1.2) Type2 รองรับการใช้งานทั้งระบบไฟฟ้า 1 เฟส และ 3 เฟส โดยหัวชาร์จจะมีทั้งหมด 7 pins ดังรูปด้านล่าง


ที่มา: http://www.mennekes.be

1.3) GB/T เป็นมาตรฐานหัวชาร์จของประเทศจีน โดยสำหรับหัวชาร์จแบบ AC จะมีทั้ง 7 pins

ที่มา: https://www.phoenixcontact.com/

2. หัวชาร์จประเภทไฟฟ้ากระแสตรง (DC)

2.1) CHAdeMO เป็นเทคโนโลยีหัวชาร์จของประเทศญี่ปุ่น โดยย่อมาจากคำว่า "Charge de Move" รองรับการใช้งานกำลังไฟฟ้าถึง 62.5 kW DC (500 V,125 A)

ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/IEC_62196

2.2) CCS ย่อมาจากคำว่า "Combined Charging System" โดย สำหรับ CCS Combo1 หัวชาร์จส่วนด้านบนจะมีลักษณะ หัวชาร์จแบบ AC Type1 เป็นหัวชาร์จ DC ที่นิยมใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศญี่ปุ่น ส่วน CCS Combo2 หัวชาร์จส่วนด้านบนจะมีลักษณะ หัวชาร์จแบบ AC Type2 หัวชาร์จประเภทนี้นิยมใช้ที่กลุ่มประเทศยุโรป

ที่มา: https://insideevs.com/

2.3) GB/T เป็นมาตรฐานหัวชาร์จของประเทศจีน โดยสำหรับหัวชาร์จแบบ DC จะมีทั้ง 9 pins

ที่มา: https://raydiall.com/

หลังจากที่เราได้ทำความรู้จักหัวชาร์จรูปแบบต่างๆในทั่วโลกไปแล้ว คราวนี้เราลองกลับมาดูมาตรฐานของประเทศไทยบ้างนะครับว่าจะมีการอิงตามมาตรฐานใดบ้าง ซึ่งทาง สมอ.ได้มีการกําหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสําหรับเต้าเสียบและเต้ารับสําหรับรถยนต์ไฟฟ้าไว้ดังนี้

มาตรฐานเต้าเสียบและเต้ารับของประเทศไทย

- มาตรฐานเต้าเสียบและเต้ารับแบบไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) --> Type2

- มาตรฐานเต้าเสียบและเต้ารับแบบไฟฟ้ากระแสสลับ (DC) สำหรับรถส่วนบุคคล --> CHAdeMO และ CCS Combo2

- มาตรฐานเต้าเสียบและเต้ารับแบบไฟฟ้ากระแสสลับ (DC) สำหรับรถโดยสาร --> CCS Combo2


หลายคนอาจจะมีข้อสงสัยว่าแล้วถ้ารูปแบบหัวชาร์จมีหลากหลายประเภทแบบนี้ เวลาเราจะชาร์จที่สถานีชาร์จไฟฟ้า (EV Station) ก็ต้องทำการเช็คหัวชาร์จของที่สถานีกับตัวรถของเราก่อนหรือเปล่า คำตอบก็คือ ปัจจุบันทางผู้ผลิต EV Charger ได้มีการออกแบบตู้ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้มีหัวชาร์จหลากหลายรูปแบบไว้ในเครื่องเดียวกันเลยดังภาพ ด้านล่างจะเห็นได้ว่าเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเครื่องนี้มีหัวชาร์จทั้ง 3 แบบ ได้แก่ CCS, AC (Type1 or Type 2) และ CHAdeMO หรือในต่างประเทศเองก็เริ่มมีการวางจำหน่ายหัวแปลง (Adaptor) สำหรับเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ากันบ้างแล้ว

ที่มา: http://www.cnarktech.com/

รูปแบบของสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Station)

1. สถานีอัดประจุไฟฟ้าโดยใช้พลังงานไฟฟ้าจากระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Grid)

เป็นรูปแบบในการติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้า (EV Charger) ในสถานี โดยมีการซื้อไฟจากการไฟฟ้าฯ เพื่อนำมาให้บริการในสถานี

ที่มา: คู่มือประกอบกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสําหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV), คณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน (กกพ.), 2561

2. สถานีอัดประจุไฟฟ้าโดยใช้พลังงานไฟฟ้าจากระบบโครงข่ายไฟฟ้า ร่วมกับแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้านอกระบบโครงข่ายไฟฟ้า

เป็นรูปแบบสถานีที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าร่วมกันระหว่างการซื้อไฟจากการไฟฟ้าฯ และแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้านอกระบบโครงข่ายไฟฟ้า เช่น Solar Cell หรือ Turbine เป็นต้น

ที่มา: คู่มือประกอบกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสําหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV), คณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน (กกพ.), 2561

3. สถานีอัดประจุไฟฟ้าโดยใช้พลังงานไฟฟ้าจากระบบโครงข่ายไฟฟ้า และมีระบบกักเก็บพลังงาน

รูปแบบนี้มีลักษณะที่คล้ายกับสถานีในแบบที่ 2 เพียงแต่มีการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน (Battery) ในตัวสถานี โดยอาจจะมีการนำไฟฟ้าเข้ามาเก็บไว้ใน Battery ในช่วงที่มีอัตราค่าไฟที่ถูก เพื่อทำให้สามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้ดียิ่งขึ้น

ที่มา: คู่มือประกอบกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสําหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV), คณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน (กกพ.), 2561

4. สถานีอัดประจุไฟฟ้าโดยใช้พลังงานไฟฟ้าจากระบบโครงข่ายไฟฟ้า ร่วมกับแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้านอกระบบโครงข่ายไฟฟ้าและมีระบบกักเก็บพลังงาน

สถานีในรูปแบบสุดท้าย เป็นการต่อยอดจากในรูปแบบที่ 3 โดยมีการติดตั้งแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้า ในสถานีด้วย ไม่ว่าจะเป็น Solar Cell หรือ Turbine ซึ่งพลังงานไฟฟ้าที่ถูกบรรจุไว้ใน Battery สามารถมาได้จากทั้ง Solar Cell หรือไฟที่จ่ายมาจากของการไฟฟ้าฯในช่วงเวลาที่อัตราค่าไฟถูกก็ได้

ที่มา: คู่มือประกอบกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสําหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV), คณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน (กกพ.), 2561

วิเคราะห์และสรุป

ผมหวังว่าบทความนี้จะทำให้ท่านผู้อ่านรู้จักถึงระบบประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า มากยิ่งขึ้นนะครับ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการอัดประจุ, ประเภทของหัวชาร์จในแบบต่างๆ รวมถึงรูปแบบของสถานีอัดประจุ ซึ่งก็จะเห็นได้ว่าเรื่องนี้ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่มีความซับซ้อนมากแต่อย่างใด เพียงแต่ยังเป็นสิ่งใหม่สำหรับประเทศไทย ซึ่งเราก็ควรที่จะทำการศึกษาไว้สำหรับเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตอันใกล้นี้


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:

- คู่มือประกอบกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสําหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV), คณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน (กกพ.), 2561


ช่องทางในการติดต่อกับทีมงาน

Line ID:@228tslca









ดู 11,870 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page