top of page

การวิเคราะห์หาพื้นที่ในการติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ในรูปแบบการเดินทางระหว่างเมือง

อัปเดตเมื่อ 7 ม.ค. 2565

สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน พบกับผมเจเช่นเคยนะครับ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 ที่ผ่านมาหลายๆท่านคงได้ออกเดินทางไปต่างจังหวัด เพื่อไปพักผ่อนกับครอบครัวกันอยู่บ้างใช่ไหมครับ มีท่านผู้อ่านท่านใดที่กำลังใช้รถยนต์ไฟฟ้าอยู่ในปัจจุบันและได้ลองขับรถออกไปเที่ยวต่างจังหวัดกันดูบ้างไหมครับ ผมทราบมาว่ามีบางสถานีชาร์จที่มีการต่อแถวรอชาร์จรถของตัวเองกันหลายคันเลย ซึ่งสาเหตุดังกล่าวก็มาจากปริมาณรถที่มากกว่าในช่วงเวลาปกติ และจำนวนจุดชาร์จที่อาจจะไม่เพียงพอกับการใช้งาน เดี๋ยววันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังครับว่า ในมุมมองของผู้ประกอบการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนสร้างสถานีสักสถานีนึง ควรจะต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง เช่น เลือกทำเลที่ตั้งบริเวณไหนดี, ควรติดตั้งหัวชาร์จจำนวนเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม ถ้าพร้อมแล้วไปติดตามกันได้เลยครับ


ที่มา: Teslabjorn Thai Youtube Channel


โดยปกติแล้ว ผู้ใช้รถไฟฟ้าจะชาร์จรถกับเครื่องชาร์จแบบกระแสสลับ (AC Charger) ที่ได้ติดตั้งอยู่ในที่พักอาศัยของตน แต่จะมีในบางครั้งที่อาจจะต้องเดินทางไกลข้ามจังหวัดซึ่งถ้าไม่ได้เปลี่ยนไปใช้รถยนต์เครื่องสันดาป ก็คงจะต้องมีการวางแผนที่ดีว่าในระหว่างเส้นทางที่จะเดินทางไปนั้นมีจุดชาร์จอยู่บริเวณไหน แล้วถ้าเกิดไปถึงที่ชาร์จแล้วมีรถคันอื่นกำลังชาร์จอยู่หรือเครื่องชาร์จเสียหละ ในกรณีนี้คงทำให้เราได้ลุ้นกันอยู่พอสมควรเลยใช่ไหมครับ ซึ่งเราควรเตรียมแผนสำรองในกรณีดังกล่าวไว้

แต่อย่างไรก็ตามทางรัฐบาลและทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็คงเล็งเห็นถึงปัญหานี้ และมีแผนที่จะขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้ครอบคลุมไปทั่วประเทศในอนาคตอย่างแน่นอน สำหรับตัวเลขที่สามารถบอกได้ว่าประเทศไทยนั้นมีสถานีชาร์จมากน้อยเพียงใดกับการใช้งานนั้น ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพดังนี้ครับ

ในปัจจุบันประเทศไทยมีสถานีชาร์จแบบกระแสตรง (DC Charging Station) มากกว่า 560 สถานี และมีจำนวนหัวชาร์จกว่า 1,800 หัวชาร์จ (ข้อมูล ณ ต.ค. 64) ซึ่งเราสามารถนำตัวเลขดังกล่าวไปเปรียบเทียบกับระยะทางรวมของถนน Highway ทั่วประเทศ ที่ระยะทางรวม 390,026 กม. เราจะพบว่าอัตราส่วนจะอยู่ที่ประมาณ 1 หัวชาร์จ ต่อระยะทาง 216.7 กม. ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงมากถ้าเทียบกับประเทศที่มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายแล้วอย่างนอร์เวย์หรือจีน เป็นต้น

ตารางแสดงอัตราระหว่างระยะทาง Highway และ จำนวนหัวชาร์จ

ที่มา: Simon Árpád Funke. (2019) . How much charging infrastructure do electric vehicles need? A review of the evidence and international comparison. Chalmers University of Technology

จากแผนที่ด้านล่าง แสดงให้เราเห็นว่า สถานีชาร์จได้มีการจัดตั้งเกาะกลุ่มในบริเวณกรุงเทพฯและปริมณฑล และยังมีไม่ครอบคลุมในเส้นทางหลักของการเดินทางทั่วประเทศไทย

แผนที่แสดงตำแหน่งของสถานีชาร์จในประเทศไทย

จากปัญหาข้างต้นที่ได้กล่าวนั้น ผมอยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่อยากจะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในการจัดตั้งสถานีชาร์จให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งผมได้สรุปปัจจัยที่ผู้ประกอบการสามารถใช้เป็นข้อมูลหนึ่งในการพิจารณาในการจัดตั้งสถานีชาร์จให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับการใช้งานในปัจจุบันของผู้บริโภค ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนเช่นกัน


ปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาในการจัดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า

1) ปริมาณจราจรในเส้นทางที่จะจัดตั้งสถานี

ในที่นี้เราสามารถใช้ "ค่าเฉลี่ยปริมาณจราจรรายวันตลอดปี (AADT)" โดยสามารถดูข้อมูลนี้ได้จากกรมทางหลวง แน่นอนว่าถ้าค่า AADT สูง โอกาสที่ผู้ใช้งานจะมาชาร์จรถที่สถานีก็จะมีมากขึ้นตาม

2) ประเภทของสถานที่

เป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่สำคัญเช่นกันในการพิจาณาในการจัดตั้งสถานี โดยสถานที่แต่ละประเภทมีความเหมาะสมในการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่แตกต่างกัน เช่น สถานีบริการน้ำมัน, ร้านอาหาร, โรงแรม, ที่พักรถ, ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ซึ่งแต่ละสถานที่มีพื้นที่และมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่แตกต่างกัน

3) ระยะทางของสถานีชาร์จข้างเคียงที่อยู่ใกล้ที่สุด

แน่นอนว่าถ้าเราเลือกจัดตั้งสถานีชาร์จใกล้กันกับสถานีชาร์จที่มีอยู่ในปัจจุบันแล้วมากเกินไป ก็จะเกิดการแบ่งดีมานด์ของผู้ใช้งาน ซึ่งจะส่งผลให้มีรายได้ที่ลดลงนั้นเอง

4) ระยะทางของสถานีชาร์จกับพิกัดของ Range Anxiety

ก่อนอื่นผมต้องขออธิบายก่อนว่า Range Anxiety คือ ระยะทางที่ผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าจะเริ่มมีความวิตกกังวลว่า ปริมาณแบตเตอรี่ที่ยังเหลือและสามารถวิ่งได้นั้นเหลือน้อยและอาจไม่เพียงพอกับการขับขี่ให้ไปถึงยังจุดหมายปลายทางหรือถึงก่อนสถานีชาร์จที่อยู่ใกล้ที่สุด ซึ่งถ้าผู้ประกอบการเลือกจัดตั้งสถานีชาร์จได้ใก้ลกับพิกัดของ Range Anxiety ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ใช้งานเข้ามาชาร์จที่สถานีได้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การเดินทางจากกรุงเทพไปยังขอนแก่น มีระยะทางประมาณ 500 กม. ในขณะที่รถยนต์ไฟฟ้ามีระยะทางการวิ่งได้จริงสมมติอยู่ที่ 300 กม. นั่นหมายความว่าเมื่อคุณเดินทางไปได้สักระยะทาง 250 กม. ก็จะต้องหาสถานีชาร์จเพื่อจอดแวะชาร์จแล้วนั่นเอง

จากปัจจัยที่ได้กล่าวข้างต้น ผมได้รวบรวมข้อมูลสถานีชาร์จที่มีอยู่ในปัจจุบัน (ดังในจุดสีส้มของแผนที่) และ Candidate Location (จุดสีฟ้า) จาก Google Map เข้ามาพิจารณาในตัว Model และทำการคำนวณหาทำเลที่ตั้งที่มีความเหมาะสมในการจัดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งสามารถแสดงได้ดังแผนที่ด้านล่างนี้ นอกไปจากนี้ยังได้มีการคำนวณจำนวนหัวชาร์จที่มีความเหมาะสมในการติดตั้งโดยได้ใช้ทฤษฎีแถวคอยภายใต้เงื่อนไขว่าผู้ใช้งานจะต้องเกิดการรอในแถวคอยไม่นานเกิน 5 นาทีในสถานการณ์ปกติ ทุกท่านสามารถคลิกเข้าไปดูข้อมูลดังกล่าวได้ในจุดสีฟ้า ในแต่ละสถานที่ได้เลยครับ


แผนที่แสดงตัวอย่างการคำนวณหาทำเลในการจัดตั้งสถานีชาร์จ


สำหรับผู้ที่มีความสนใจในการลงทุนติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าและอยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมในด้านการลงทุน ทางเราสามารถคำนวณตัวเลขในการลงทุน เช่น NPV, IRR, B/C, Payback Period ให้ท่านได้ตามสมมติฐานในแต่ละสถานที่ ท่านอาจจะมีทำเลพื้นที่อยู่แล้วและต้องการมาปรึกษาเพื่อเป็นข้อมูลให้กับการลงทุนของท่าน ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มได้ตามช่องทางด้านล่างนี้เลยครับ และพบกันใหม่ในบทความหน้า สำหรับวันนี้สวัสดีครับ


ช่องทางในการติดต่อกับทีมงาน




Line ID:@228tslca

ดู 1,060 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page